สมาคมแพทย์อุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กว่า 200 คนทั่วประเทศ ร่วมการประชุมแพทย์และพยาบาล หน่วยงานเสมือนปลายน้ำรับผู้เจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ย้ำว่าหากจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทางอุบัติเหตุยังเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ อนาคตการรับมือทางการแพทย์อาจไม่เพียงพอ นพ.ทวีวงษ์ จุลกมนตรี นายกสมาคมแพทย์อุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อพูดคุยกับหมอพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งสมาคมมีหน้าที่หลักในการให้ความรู้ กับบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ร่วมกับแพทย์สมาคม อบรมให้กับบุคลากรทางการแพทย์หน่วยฉุกเฉิน ที่ผู้เกิดอุบัติเหตุแล้วจะส่งมาที่มือแพทย์พยาบาลที่ตั้งรับอุบัติเหตุอยู่เรื่อยๆ ก็จะไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ต้องมีมาตรการป้องกัน โดยเฉพาะภาครัฐ ให้ความสำคัญในการรณรงค์อุบัติเหตุตลอดทั้งปี ไม่เพียงแค่ช่วงเทศกาลเท่านั้น ซึ่งช่วงเทศกาลสงกรานต์สถิติไม่ได้ลดลง แต่ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกด้วย ดังนั้น การมาคุยกันเพื่อหาข้อเสนอไปยังผู้มีอำนาจให้หาทางป้องกันเพื่อลดผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บให้ลดลง สำหรับประเทศไทยมีสถิติทางอุบัติเหตุเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียมาหลายปีแล้ว และเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างไม่เป็นทางการ
ในทุกๆ 1 วันจะมีคนไทย 60คนออกจากบ้าน แต่ไม่มีโอกาสกลับมาหาครอบครัวอีก รวมแล้วปีละกว่า 21,000คน สำหรับสัดส่วนของผู้ป่วยจากโรคต่างๆ กับอุบัติเหตุ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วนั้น แต่เดิมมีจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคมะเร็ง เบาหวาน เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันสามารถควบคุมดูแลได้ดีทำให้สถิติลดลง ในขณะที่จำนวนอุบัติเหตุเพิ่มสูงมากขึ้น และทรงตัวอย่างน่ากลัว โดยอุบัติเหตุมักเกิดกับประชาชนวัยทำงาน วัยรุ่น ที่เป็นกำลังของชาติในอนาคต ทางสมาคมฯ จึงต้องลงมาดูว่าจะป้องกันอย่างไรกับคนไทยทั้งหมด เพราะโดยเฉลี่ยประเทศไทยเสียค่าใช้จ่ายกับคนเกิดอุบัติเหตุและต้องดูแลกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี หากลดจำนวนลงได้สามารถนำเงินไปใช้ทำงานช่วยพัฒนาชาติด้านอื่นๆได้อีกมากมาย
ส่วนข้อเสนอที่ต้องการเสนอต่อระดับนโยบาย คือ ต้องดำเนินการอย่างจริงจังมากกว่าปีละ 2 ครั้ง คือช่วงเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ คือต้องเข้มงวดตลอด 365วัน หรือไทยต้องมีองค์กรระดับชาติที่ดูด้านความปลอดภัยทางถนนโดยเฉพาะ ที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่หลัก บริหารแผนอย่างเป็นระบบ จริงจังต่อเนื่อง ผลักดันให้มีการแก้กฎหมาย สร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้น นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสนับสนุนการทำงานของตำรวจ เครือข่ายภาคประชาชนและสื่อมวลชน ช่วยกันเผยแพร่ให้รู้ถึงภัย และความเลวร้ายบนท้องถนน
ด้านนพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า สายตานานาชาติต่อประเทศไทย มีความเป็นห่วงไทยเพราะมีความสูญเสียอยู่ในระดับสูง ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีเศรษฐกิจที่ดี การศึกษาสูง ถนนหนทางทันสมัย แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆแล้ว ยังต้องทำให้เกิดความปลอดภัยให้ทันกับการพัฒนา โดย 5 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกตื่นตัวด้านนี้มากขึ้น เช่น อินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม เห็นได้จากการใส่หมวกกันน็อกมากกว่าประเทศไทย ทั้งที่ไทยมีกฎหมายก่อน ซึ่งองค์การอนามัยโลก มีการประเมินทุกพฤติกรรมเสี่ยง ที่ประเทศไทยต้องจัดการแบบมีการวางแผนอย่างจริงจัง ทำอย่างไรกับการบังคับคนเมา คนไม่สวมหมวกนิรภัย คนขับรถเร็ว แม้เราจะมีการใช้เทคโนโลยี แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการกับคนทำผิดให้มาเสียค่าปรับได้ และที่สำคัญคือประชาชนและสื่อมวลชนต้องร่วมกันอย่างจริงจัง ในการสร้างความเข้าใจ ถึงสถานการณ์ความเลวร้ายของภัยบนท้องถนน ขอความร่วมมือประชาชนในการปฎิบัติตามกฎจราจรในทุกท้องที่ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาระดับชาตินี้ได้
ที่มา : http://www.js100.com/en/site/news/view/55005