ปภ.เตือนอันตรายปล่อยเด็กไว้ในรถ – นำเด็กโดยสารรถตามลำพัง
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนอุบัติภัยในรถที่มักเกิดกับเด็ก โดยไม่ควรปล่อยเด็กไว้ในรถที่ไม่ได้สตาร์ทเครื่องยนต์ เพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากความร้อนภายในรถ กรณีที่สตาร์ทเครื่องยนต์ไว้ เด็กเสี่ยงต่อการสูดดมก๊าซพิษเข้าสู่ร่างกาย และอุบัติเหตุจากรถเคลื่อนตัว และภัยอื่นๆ อาทิ ถูกประตู หรือกระจกหนีบนิ้ว รวมถึงไม่ควรนำเด็กเล็กโดยสารรถตามลำพัง ไม่นำเด็กนั่งตักผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่นั่งด้านหน้ารถ ไม่ให้เด็กเล็กคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะหากประสบอุบัติเหตุ เด็กจะได้รับอันตรายเพิ่มมากขึ้น
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า บ่อยครั้งที่เด็กมักถูกปล่อยไว้ในรถตามลำพัง หรือโดยสารรถโดยไม่มีผู้ดูแล ซึ่งมีความเสี่ยงที่เด็กจะได้รับอันตราย เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอเตือนอุบัติภัยในรถที่มักเกิดกับเด็ก ดังนี้
อันตรายจากการปล่อยเด็กไว้ในรถตามลำพัง เสียชีวิตจากความร้อนภายในรถ การให้เด็กอยู่ในรถที่ไม่ได้สตาร์ทเครื่องยนต์เพียง 5 นาที อุณหภูมิในรถที่เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ร่างกายเด็กขับเหงื่อออกมาจนเมื่อถึงจุดที่ร่างกายทนไม่ได้ เลือดจะกลายเป็นกรดและอวัยวะต่างๆ หยุดทำงาน ส่งผลให้เด็กเสียชีวิตได้ สูดดมก๊าซพิษเข้าสู่ร่างกาย การให้เด็กอยู่ในรถที่สตาร์ทเครื่องยนต์เป็นเวลานาน เด็กจะสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากท่อไอเสียที่พัดลมเครื่องปรับอากาศดูดเข้ามาในห้องโดยสารรถ ทำให้ขาดออกซิเจนและเสียชีวิตได้ อุบัติเหตุจากรถเคลื่อนตัว การให้เด็กอยู่ในรถระบบเกียร์อัตโนมัติที่สตาร์ทเครื่องยนต์ หากเด็กเลื่อนคันเกียร์หรือเหยียบคันเร่ง จะทำให้รถเคลื่อนตัวโดยปราศจากการควบคุม ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ ภัยอื่นๆ อาทิ ถูกประตูหรือกระจกหนีบนิ้ว ติดอยู่ในรถ เนื่องจากกดล็อกประตู ใช้นิ้วหรือวัสดุไวไฟแหย่ที่จุดบุหรี่ ทำให้ถูกไฟลวก ยื่นแขนขาออกไปนอกรถ ทำให้ถูกรถเฉี่ยวชน อันตรายจากการนำเด็กโดยสารรถตามลำพัง การนำเด็กนั่งตักผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่นั่งด้านหน้ารถ เด็กอาจแย่งพวงมาลัยหรือเล่นคันเกียร์ ทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิในการขับรถ โดยเฉพาะหากประสบอุบัติเหตุ เด็กจะได้รับอันตรายจากแรงกระแทก เพิ่มเป็น 2 เท่า การไม่ให้เด็กใช้ที่นั่งนิรภัยเมื่อโดยสารรถ เมื่อประสบอุบัติเหตุจะไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอันตราย ทำให้ร่างกายเด็กพุ่งกระแทกกับอุปกรณ์อื่นภายในรถ และกระเด็กออกนอกรถ ส่งผลให้เด็กได้รับบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตได้ การให้เด็ก คาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้ใหญ่ เข็มขัดนิรภัยถูกออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่ จึงไม่เหมาะสำหรับเด็กที่มีสรีระและรูปร่างขนาดเล็ก เมื่อประสบอุบัติเหตุ นอกจากเข็มขัดนิรภัยจะไม่ช่วยปกป้องอันตรายแล้ว เด็กยังได้รับบาดเจ็บจากแรงรัด และการบาดของเข็มขัดนิรภัยได้ การไม่ล็อกประตูรถและปิดประตูรถไม่สนิท ก่อนออกรถควรตรวจสอบประตูรถให้ปิดสนิทและล็อกประตูรถทุกครั้ง รวมถึงไม่ควรให้เด็กนั่งข้างประตู เพื่อป้องกันเด็กเปิดประตูขณะรถวิ่ง ทำให้พลัดตกรถ เพื่อความปลอดภัย ทุกครั้งที่นำเด็กโดยสารรถก่อนออกรถ ควรตรวจสอบเด็กให้นั่งบนรถให้เรียบร้อย กดล็อกประตู และกระจกอัตโนมัติ พร้อมจัดให้เด็กนั่งที่นั่งนิรภัยที่เหมาะสมกับขนาด รูปร่าง และน้ำหนักตัวของเด็ก รวมถึงจัดให้มีผู้ดูแลเด็กนั่งรถไปด้วย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับเด็ก