Deprecated: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; plgContentGoogleCalendar has a deprecated constructor in /var/www/vhosts/accident.or.th/domains/accident.or.th/public_html/plugins/content/googlecalendar/googlecalendar.php on line 24

เขียนโดย Super User

        เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 61 บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) นำโดยนายคงศักดิ์ หาญแสวงสิน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) ห่วงใยความปลอดภัยทางถนนของคนในชุมชน ประสานสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) โดยนายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ และ นายพีระศักดิ์ มาตรศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ลงพื้นที่ร่วมค้นหาและแก้ไขจุดเสี่ยงในพื้นที่ ด้วยการนำนวัตกรรม “ ล้อยางเก่า” ดัดแปลงทาสีขาวแดง นำไปวางในบริเวณทางโค้ง หรือจุดเสี่ยงอันตราย เพื่อชะลอความเร็วรถ ลดการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ยังได้ทำเนินชะลอความเร็วบริเวณทางแยกที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคนในชุมชนมาร่วมแรง ร่วมใจกันทำด้วยตนเอง เป็นการปลูกจิตสำนึกความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน ให้มีความเป็นเจ้าของร่วมกันเพื่อความปลอดภัยที่ยั่งยืน ณ บริเวณสี่แยกหมู่บ้านหนองการ้อง ม. 11 ต.พลับพลาไชย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

 

  

  

  

  

  

0
0
0
s2smodern

เขียนโดย Super User

กว่า 20,000 ชีวิตต่อปี จะประเมินความสูญเสียอย่างไร

 ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (ThaiRSC) ในปี 2562 มีผู้เสียขีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 17,176 คน บาดเจ็บ 925,029 คน เมื่อมีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสิ่งหนึ่งที่หลายคนมักนึกถึงเป็นอันดับต้นๆคือ อุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ จากข้อมูลผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์ของ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า

-         ปี 2562 ผู้เสียชีวิตจากมอเตอร์ไซด์จำนวน 4,802 คน เฉลี่ย 13.15 คน/วัน

-         รวม 3 ปี (ตั้งแต่ 2560-2562) จะมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 23,530 คน เฉลี่ย 21.48 คน/วัน

-         กลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มวัยแรงงาน

ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย (Thailand Accident Research Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ได้แถลงความคืบหน้าของ “โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” หรือ In-depth Accident Investigation in Thailand วิจัยอุบัติเหตุที่เกิดกับผู้ใช้รถจักรยานยนต์เพื่อค้นหาปัจจัยสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว โดยเก็บข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. 2559-2563 หลังจากมีการเก็บข้อมูลจำนวน 600 เคส และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องพบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ สอดคล้องกับข้อมูลที่มีการเผยว่า การไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 60 เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังข้อมูลสำคัญอื่นๆ ดังนี้

  • ผู้ประสบอุบัติเหตุมักเสียชีวิตจากการชนกับรถยนต์คันอื่นหรือวัตถุข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ รถบรรทุก และ รถที่จอดอยู่ข้างทาง ตามลำดับ
  • รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ การเลี้ยวตัดกระแสจราจรทางตรงบริเวณจุดกลับรถ ทางแยก หรือทางเข้าออกซอยต่างๆ
  • รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่ส่งผลให้ผู้ขับขี่เสียชีวิตมากที่สุดคือ การชนที่ด้านหน้า, การชนท้ายรถคันอื่น และการชนกับรถขณะเลี้ยวในบริเวณจุดตัดต่างๆ
  • สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ ร้อยละ 54 เกิดจากความผิดพลาดของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เอง ร้อยละ 40 จากคนขับรถยนต์คันอื่น ร้อยละ 4 จากถนน และร้อยละ 2 จากยานพาหนะ
  • เมื่อย่อยรายละเอียดลงไปอีกในเรื่องของความผิดพลาดของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 52 มีการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ร้อยละ 21 ตัดสินใจผิดพลาดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ฉุกเฉิน และร้อยละ 19 เป็นความผิดพลาดในการควบคุมรถ
  • ร้อยละ 26 ของอุบัติเหตุทั้งหมด เกิดจากความไม่ตั้งใจในการขับขี่
  • ร้อยละ 32 ของอุบัติเหตุทั้งหมด เกิดจากการทำผิดกฎจราจรของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์
  • ร้อยละ 48 ของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดจากการที่ผู้ขับขี่ไม่หลบหลีกหรือเบรกเพื่อหลีกเลี่ยงการชน ซึ่งส่วนใหญ่เบรกไม่ทันนั่นเอง ซึ่งผู้ขับขี่มีสภาพร่างกายปกติ และขับขี่ด้วยความเร็วปกติระหว่าง 30-60 กม./ชม.
  • ร้อยละ 40 ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ทว่าในกลุ่มผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่ร้อยละ 50 ก็ไม่สามารถเบรกทันได้เช่นเดียวกัน นั่นแสดงถึงทักษะในการหลีกเลี่ยงการชนที่ยังขาดอยู่
  • ร้อยละ 85 ของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดกับผู้ขับขี่ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรบขับขี่ปลอดภัย แต่กลับฝึกขับขี่ด้วยตนเอง รวมถึงคนใกล้ชิด
  • ร้อยละ 15 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เกิดจากการขับขี่ขณะมึนเมา

กล่าวโดยสรุปแล้ว ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยยังขาดทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัย และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ยังขาดการเรียนรู้ด้านการคาดการณ์สถานการณ์ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ต่อยอดไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและลดการเสียชีวิตของผู้ขับขี่อันได้แก่ การพัฒนาทักษะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทั้งหมด 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การคาดการณ์อุบัติเหตุ, การตัดสินใจที่ถูกต้อง และการควบคุมรถอย่างปลอดภัย นั่นเอง

ข้อมูลจาก ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ และคณะ, ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ผู้สนับสนุน : มูลนิธิไทยโรดส์  ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการฝ่าฝืนสัญญาณไฟพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ พบว่า ผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุไม่เกิน 20 ปี มักขับขี่รถจักรยานยนต์ประเภทเกียร์ธรรมดา ขับขี่โดยลำพังและไม่สวมหมวกนิรภัย รวมถึงเป็นผู้ขับขี่ผ่านทางแยกในลักษณะตรง มากกว่าผู้ขับขี่ที่ขับผ่านทางแยกในทิศทางอื่นๆ 

จากการศึกษาของกรมทางหลวงเรื่อง “มูลค่าความเสียหายของอุบัติเหตุในประเทศไทย” ซึ่งมีคณะผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้จัดทำ พบว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนมีมูลค่าสูงถึง 232,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.8 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศเลยทีเดียว

องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า ไทยเป็นสังคมสูงวัยเร็วอันดับ 3 ของเอเชียคาดว่าจำนวนประชากรกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 26.9% ภายในปี 2573 หมายความว่าประชากรไทยทุก 4 คน เป็นคนชรา 1 คน (ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง เกาหลีใต้อันดับสอง) สอดคล้องกับข้อมูลของ ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ได้ทำภาพเปรียบเทียบพีระมิดประชากรไทย พ.ศ.2513-2573 ไว้ตั้งแต่ปะ 2550

          จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากขึ้นเนื่องจากการเกิดน้อยลง เมื่อการเกิดน้อยลงแล้วยังมีเด็กไทยและวัยแรงงานของประเทศเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการขับขี่มอเตอร์ไซด์ต่อไปเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่กระทบต่อครอบครัว ชุมชน เท่านั้น แต่อาจส่งผลต่อโครงสร้างโดยรวมของเทศอย่างมิอาจประมาณค่าได้ กระทบกับอะไรบ้างเรามาดูกัน

  • ขาดแรงงานอย่างรุนแรง (กระทรวงแรงงาน ภาคเอกชน)
  • การผลิตของภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบ (ภาคเอกชน)
  • รายได้และงบประมาณของประเทศได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อวัยแรงงานน้อยลงภาษีที่รัฐจะต้องจัดเก็บก็น้อยลงตามไปด้วย อีกทั้งยังต้องนำเงินส่วนหนึ่งมาดูแลผู้สูงอายุ (กระทรวงการคลัง)
  • กระทบต่อระบบสาธารณสุข เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็เสื่อมโทรมลง เจ้าหน้าที่จะต้องทำงานหนักขึ้น
  • ผู้สูงอายุขาดการดูแล ต้องดูแลตนเองมากขึ้น (กระทรวงสาธารณสุข)
  • ผู้สูงอายุต้องทำงานมากขึ้น รวมถึงขับรถมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นสมรรถภาพทางร่างกายเสื่อมถอยลงจะส่งผลต่ออุบัติเหตุทางถนนมากขึ้นตามไปด้วย (กระทรวงสาธารณสุข)
  • ปัญหาสุขภาพจิต ความเครียด (ครอบครัว กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ภาคเอกชน)
  • รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง เมื่อไม่มีลูกหลานดูแลคนจะประหยัดมากขึ้น เพราะต้องหันมาเก็บเงิน ไว้ดูแลตนเองยามสูงวัย (กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ภาคเอกชน รายได้ประชาชนในท้องถิ่น)
  • ถนนหนทางจะชำรุดทรุดโทรมมากขึ้นเพราะงบประมาณที่ได้จะถูกจำกัด (กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท)
  • ประเทศไทยจะกลายเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของต่างชาติ กลุ่มแรงงาน/ คู่ชีวิตคนไทย/ นักธุรกิจ (กรมที่ดิน)
  • โรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องปิดตัวเพราะการเกิดน้อยการตายสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
  • ขาดแรงงานในภาคการเกษตร (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
  • ปัญหาสุขภาพจิต (ครอบครัว สังคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ภาคเอกชน กระทรวงการคลัง )
  • การขนส่งต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว (กรมการขนส่ง)
  • กฎหมายต้องมีการปรับแก้ไขบ่อยขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว (กระทรวงยุติธรรม)
  • อื่นๆ

 

จากตัวอย่างผลกระทบข้างต้นเราคงเห็นกันแล้วว่า อุบัติเหตุทางถนนไม่ใช่เรื่องเล็ก ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาล ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังและจริงใจ ก่อนที่อุบัติเหตุทางถนนจะกลายเป็นปัญหาที่เรียกว่า...เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว... ผลกระทบอันประเมินค่ามิได้จะเกิดหรือไม่ อยู่ที่ความร่วมมือของคนไทยทุกคน...

 

สืบค้นข้อมูลจาก :

http://www.thairsc.com/      https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/798846

https://www.gotoknow.org/posts/622228   http://www.thairoads.org/research/451

https://www.slideshare.net/taem/emergency-care-for-elderly

https://thestandard.co/thai-population-2562/

http://dashboard.anamai.moph.go.th/dashboard/populationpyramid?year=2019

https://www.dailynews.co.th/article/703980

0
0
0
s2smodern

เขียนโดย Super User

         กัปตันบัณฑูรย์  เทพบุตร  ที่ปรึกษาบริษัท จัมโบ้บาจส์ แอนด์ ทักส์ จำกัด เป็นอีกท่านหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสร้างเสริมความปลอดภัยทางน้ำให้กับบุคลากรในบริษัท ปัจจุบันหน้าที่หลักของกัปตันบัณฑูรย์ คือ

1.พัฒนาความสามารถในการปฏิบัติงานของสรั่งเรือโป๊ะของบริษัท ให้มีมาตรฐานที่อยู่ในระดับสากล

2.สร้างสรั่งเรือรุ่นใหม่ให้กับกองเรือของบริษัท

3.วิเคราะห์ ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดกับเรือลากจูงและเรือโป๊ะของบริษัท

4.สัมมนาให้ความรู้บุคลากรในกองเรือของบริษัท เพื่อยกระดับการปฏิบัติงานและความปลอดภัยต่อตัวเรือ สินค้าและคนประจำเรือ

       ด้วยบทบาทหน้าที่ทำให้ต้อง วิเคราะห์ ป้องกันและให้ความรู้คนประจำเรือในเรื่องอุบัติเหตุการจราจรทางน้ำ รวมทั้งการปลูกจิตสำนึกคนประจำเรือให้ปฏิบัติงานตามกฏของการเดินเรือและงานสินค้า เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบริษัท รวมถึงสินค้าของลูกค้าด้วย

แม้หน้าที่การปฏิบัติงานจะเกี่ยวข้องกับทางน้ำเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ในชีวิตประจำวันกัปตันบัณฑูรย์ก็เหมือนคนปกติทั่วไปที่มีการสัญจรทางบกเป็นหลัก ทั้งการเดินทางไปทำงาน พาครอบครัวไปเที่ยว ทำให้เห็นพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนโดยเฉพาะในเรื่องความเร็ว

“ ผมมีความคิดเห็นในเรื่องนี้คือผู้ขับขี่ควรมีวินัยอย่างยิ่งในการรักษากฎเรื่องความเร็วของรถ ทั้งในเขตเมืองและเขตทางหลวง เพราะอุบัติเหตุหลายครั้ง เกิดจากการใช้ความเร็วรถเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด มันเป็นจิตสำนึกที่ควรมีทุกครั้งเมื่อขับรถ หากมีเหตุไม่คาดฝันใดๆ ก็จะสามารถบรรเทาจากหนักเป็นเบา จากที่จะถึงแก่ชีวิตก็เพียงแค่บาดเจ็บ หรืออาจหยุดรถได้ทัน ยิ่งใช้ความเร็วมาก ทัศนวิสัยในการมองก็แคบลง ระยะเวลาการตัดสินใจก็น้อยลง รวมไปถึงระยะทางก็สั้นลงอีกด้วย ”

        กัปตันบัณฑูรย์จึงอยากฝากถึงทุกท่านที่ใช้รถใช้ถนน

     “ อยากให้มีจิตสำนึกที่ต้องเคารพกฎจราจร เพราะเป็นพื้นฐานที่ดีและเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ ในทุกๆครั้งที่คุณขับรถ ไม่ว่าจะเป็นรถประเภทใดก็ตาม การสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุจราจรเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ เมื่อคุณปฏิบัติตามกฎ ”

0
0
0
s2smodern

เขียนโดย Super User

จิ๋วแต่แจ๋ว ... กลุ่มคนใจใหญ่ ในพื้นที่เล็ก

          ตำบลโนนทองอินทร์ เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี มีทั้งสิ้น 8 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 4,000 คน มีการดำเนินงาน เสริมสร้างความร่วมมือกันขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อลดความเสี่ยงและความสูญเสียของประชากรในพื้นที่ โดยการจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยทางถนนตำบลโนนทองอินทร์ (ศปถ.ตำบล) โดยมีนายบุญเลิศ สวัสดี นายก อบต.โนนทองอินทร์ เป็นประธาน และปลัดสุมานิตย์ วงษ์ดี เป็นเลขานุการ นายธนาวิทย์ ทำนาเมือง ผอ.รพ.สต.โนนทองอินทร์ และนายบริสุทธิ์ วิชัยผิน ฝ่ายป้องกัน อบต.โนนทองอินทร์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ศปถ. ตำบลโนนทองอินทร์ เป็นคณะกรรมการ
จากข้อมูลการดำเนินงาน พบว่า ปี 2560 มีผู้ที่เสียชีวิตรายแรกของตำบลในรอบ 10 ปี จึงทำให้มีการนำประเด็นดังกล่าวมาพูดคุยกัน ในคณะกรรมการ ศปถ.ตำบลและคณะกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตตำบลโนนทองอินทร์ร่วมกันปรึกษาหารือและร่วมผลักดันให้ประเด็นการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เป็น 1 ใน 5 วาระสำคัญของตำบล ได้แก่
1.ตำบลสะอาด( ธนาคารขยะ)
2. ตำบลต้นแบบความปลอดภัยทางถนน
3. ตำบลสร้างเสริมสุขภาพ
4. ตำบลผู้สูงอายุสุขภาพดี
5. ตำบลสมุนไพร

 

         ในส่วนของการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน ต.โนนทองอินทร์เริ่มดำเนินงานในปี 2561ในช่วงแรก ต.โนนทองอินทร์ มีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะดำเนินงานอย่างเพียงพอจึงต้องแสวงหาจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม โดยเป็นลูกข่ายของ รพ.สต.นาข่า อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้งบประมาณมาดำเนินงานเรื่อง “ลดเมาเพิ่มสุข” และได้รับงบส่วนหนึ่งจาก สำนัก 6 สสส. เพื่อมาขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขจุดเสี่ยงในพื้นที่ โดยมี หมู่ 4 (หมู่บ้านอะไร ?) เป็นหมู่บ้านนำร่อง การทำงานของ ต.โนนทองอินทร์ เน้นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชน เช่น รพ.สต. ศปถ. สอ. อบต. / แกนนำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. / ประชาชนในพื้นที่ ร้านค้า ผู้ประกอบการ เป็นต้น การดำเนินงานดังกล่าวใช้การสร้างการมีส่วนร่วมแบบใยแมงมุม คือ ร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน ร่วมกันทำ ร่วมกันรับผลประโยชน์

 

         ก่อนการดำเนินงานทาง รพ.สต.ได้ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและจัดเวทีคืนข้อมูลให้ชุมชน เพื่อร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ในตำบล คณะทำงาน ศปถ. มีการสร้างทีมงานที่เข็มแข็งในทุกระดับ ร่วมกันวางแผนการดำเนินงานอย่างครอบคลุม ไม่เพียงแต่การค้นหาจุดเสี่ยง แต่ยังค้นหาคนที่มีพฤติกรรมอันนำไปสู่ความเสี่ยง และรถที่มีสภาพไม่ปลอดภัย อันอาจก่อให้เกิดอันตราย หลังจากนั้น ก็สร้างกิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ในชุมชนมีกิจกรรมมากมาย อาทิเช่น
                 1. กิจกรรมเตือนก่อนจับปรับ ในกรณีของการจับปรับเมื่อมีมาตรการชุมชนออกมาแล้ว จะมีการแจ้งประกาศให้ชุมชนได้รับรู้และค่อย ๆ ปรับตัวเป็นระยะเวลา 6 เดือน ก่อนดำเนินการตรวจจับและปรับอย่างจริงจังในพื้นที่ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและลดแรงต้านจากคนในชุมชน
                 2. กิจกรรมเคาะประตูบ้าน คณะ อสม.จะร่วมกันออกไปเยี่ยมตามบ้านต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจและแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน เช่น อันตรายจากการดื่มแล้วขับ การขับขี่อย่างปลอดภัย เป็นต้น เป็นการสร้างการรับรู้และสร้างความร่วมมือตั้งแต่ระดับครอบครัว สู่ระดับชุมชน
                  3. กิจกรรมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อความปลอดภัยทางถนน เน้นการสร้างความเข้าใจและปลูกฝังนิสัยเรื่องความปลอดภัยทางถนนให้กับเด็กเล็ก ส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นพื้นที่ปลอดภัย จัดกิจกรรมรณรงค์ใส่หมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กและผู้ปกครอง ค้นหาบุคคลต้นแบบเน้นไปที่กลุ่มผู้ปกครอง โดยทางโครงการจะมีการออกใบรับรองให้กับผู้ปกครองที่ขับรถดีและสวมใส่หมวกนิรภัยทุกครั้งที่มีการขับขี่หรือใช้รถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองและเด็กเห็นความสำคัญของการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนต่อไป
                       4. กิจกรรมผ้าป่ายางรถยนต์ มีการจัดกิจกรรมทอดผ้าป่ายางรถยนต์ในตำบล เพื่อนำยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้แล้วมาทาสี ทำแนวกั้นในจุดเสี่ยงในพื้นที่ เช่น ทางโค้ง ทางแยก เป็นต้น



                  5. กิจกรรมร่วมกับพระสงฆ์ คณะทำงานในพื้นที่ ได้รับความเมตตาจาก หลวงปู่ศรี สิริธโร เจ้าอาวาสวัดป่าโนนทองอินทร์ ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของคนในชุมชน ได้ช่วยกระตุ้นและผลักดันให้ชุมชนเกิดความร่วมมือและเกิดความตระหนักในการที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนร่วมกัน โดยหลวงปู่ศรีเทศน์ให้ชาวบ้านและพุทธศาสนิกชน ได้เกิดการรับรู้ถึงปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยสร้างกลุ่มแกนนำเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชน ภายใต้คำขวัญว่า “ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน”
                  6. กิจกรรมร่วมกับภาคเอกชน เช่น การขอความร่วมมือกับร้านค้าในการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาที่กำหนด หรือชุมชนมีเทศกาลที่สำคัญ เป็นต้น นอกจากนี้ในช่วงเวลาของการจัดกิจกรรมต่างๆ มักได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาคเอกชนอย่างสม่ำเสมอ
                 7. กิจกรรมตั้งจุดตรวจ จุดสกัดในช่วงเทศกาล ในช่วงเทศกาลจะมีการรณรงค์ เคาะประตูบ้าน ตั้งด่านครอบครัวหรือจุดตรวจ จุดสกัดในพื้นที่ โดยการทำประชามติ เกิดข้อตกลงกับชุมชนว่าหากพบเห็นคนดื่มสุรา ที่จะเดินทางออกจากพื้นที่ คณะทำงาน ฯ จะให้มานั่งพักในจุดที่ตั้งด่านก่อนจนกว่าจะสร่างเมาหรือรู้สึกตัวดีขึ้น จึงจะปล่อยตัวออกไป ถ้ายังไม่สร่างเมา หัวหน้าชุดก็จะมอบหมายให้ชุดรักษาความปลอดภัย (ชรบ./อปพร.) นำส่งคนเมาให้กลับถึงบ้านโดยส่งต่อให้ญาติพี่น้องเป็นผู้ดูแลต่อ

         การดำเนินงานที่ผ่านมาไม่เพียงแต่เน้นไปที่ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเท่านั้น แต่คณะทำงาน ฯ ยังได้มีการศึกษาเรียนรู้หาประสบการณ์และแนวคิดใหม่ๆ ร่วมกับเครือข่ายอื่น ๆ อยู่เสมอ ปัจจุบันในพื้นที่เกิดมาตรการความปลอดภัยในการขับขี่ 10 รสขม. ตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทย คือ
               1 ร. คือ ไม่ขับเร็ว
               2 ส. คือ ไม่ฝ่าสัญญาณไฟ ไม่ย้อนศร
               3 ข. คือ ต้องมีใบขับขี่ คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ไม่แซงในที่คับขัน
               4 ม. คือ มอเตอร์ไซด์ขับขี่ระวัง ใส่หมวกกันน็อคทุกครั้ง ไม่ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ไม่ดื่มแล้วขับ

         จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินด้านหลังวัด (วัดอะไร ?) เพื่อใช้ทำถนนให้กับนักเรียน เพราะถนนด้านหน้าค่อนข้างมีความพลุกพล่านและมีความเสี่ยง ไม่ปลอดภัยเพียงพอสำหรับเด็ก ๆ หรือบุตรหลาน ขณะนี้ การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ได้ถูกนำมาร้อยเรียงและผลักดันให้ชุมชนเกิดการรับรู้ ให้ความร่วมมือและเกิดความตระหนักในการที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายให้เห็นผลได้ชัดเจน ในระยะเวลา 5 ปี
...ตำบลโนนทองอินทร์แม้จะเป็นพื้นที่เล็ก แต่มีคนทำงานใจใหญ่ เราจึงเชื่อว่า นี่เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ควรค่าแก่การเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง.... จิ๋วแต่แจ๋ว ... กลุ่มคนใจใหญ่ ในพื้นที่เล็ก

 

 


“ถ้ายังไม่สำเร็จ...ก็อย่าหยุด...ที่จะพยายาม”
ธนาวิทย์  ทำนาเมือง ผอ.รพ.สต.โนนทองอินทร์

 

0
0
0
s2smodern