Deprecated: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; plgContentGoogleCalendar has a deprecated constructor in /var/www/vhosts/accident.or.th/domains/accident.or.th/public_html/plugins/content/googlecalendar/googlecalendar.php on line 24

เขียนโดย Super User

มุมมองของคนทำงาน..นำไปสู่ผลงานที่ยิ่งใหญ่

          หากพูดถึงพื้นที่ ๆ มีการทำงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดอุดรธานี โดยเฉพาะการดำเนินงานที่เรียกได้ว่าเป็น “ตำบลต้นแบบ” ชื่อของ ตำบลนาข่า อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เป็นอีกชื่อหนึ่งที่เรามักได้ยินและได้รับคำแนะนำอยู่เสมอ ๆ ว่าควรไปศึกษาดูงาน  แล้วทำไมถึงต้องเป็นที่นี่ ? เรามาดูกัน

          ตำบลนาข่ามีพื้นที่ 8,343.75 ไร่ จำนวนประชากร 6,434  คน เป็นตำบลที่อยู่ในอำเภอเมืองอุดรธานี มีถนนมิตรภาพพาดผ่านพื้นที่ตำบลประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นเส้นทางหลักไปสู่จังหวัดหนองคาย และ ประเทศ สปป.ลาว มีตลาดผ้าชื่อดังที่เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศอยู่ในพื้นที่ ขณะเดียวกันยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวไปยัง “วังนาคินทร์คำชะโนด” ได้อีกด้วย ทำให้มีปริมาณรถสัญจรเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน เคยเป็นพื้นที่สีแดงของการเกิดอุบัติเหตุในจังหวัดอุดรธานี โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์ จะมีทั้งคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่สัญจรเข้ามาเป็นจำนวนมาก

       ในปี 2559 จังหวัดอุดรธานี ได้กำหนดนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานตำบลต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนขึ้น โดยกำหนดให้แต่ละอำเภอมีตำบลต้นแบบอย่างน้อยอำเภอละ 1 ตำบล ก่อนที่จะขยายไปครบทุกตำบลในจังหวัดอุดรธานี เช่นปัจจุบัน  โดยกำหนดตัวชี้วัดไว้หลายประเด็น รวมถึงการตั้งทีมสอบสวนอุบัติเหตุการจราจรที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทุกราย ซึ่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)นาข่า ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของอำเภอเมืองอุดรธานี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการเกิดอุบัติเหตุสูง (พื้นที่สีแดง)  จึงได้มีการชักชวนกันเข้ามาเป็นคณะทำงานและวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันทางเทศบาลตำบลนาข่าก็มีความสนใจที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่แล้ว โดยผู้บริหารของเทศบาลและนายณัฐพงษ์ วงษา ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลนาข่า ได้นำคณะทำงานไปศึกษาเรียนรู้ที่จังหวัดขอนแก่น ร่วมกันวิเคราะห์ ค้นหาจุดแข็งจุดอ่อนของชุมชนอย่างจริงจัง

          ในปี 2560 ได้มีการจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ตำบล ขึ้นและมีการจัดตั้งคณะกรรมการทำงานในระดับพื้นที่อย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมกันวางแผนงานอย่างเป็นระบบ ค้นหาเครือข่ายเพิ่ม สร้างความรู้ความเข้าใจ จัดกิจกรรม รวมถึงมีการประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ โดยใช้หลักการ PDCA การทำงานของตำบลนาข่า มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน อีกทั้ง ในพื้นที่ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนเพื่อดำเนินงานเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดอุบัติเหตุ “ลดเมา เพิ่มสุข”         

                  

            จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในตำบล จึงทำให้เกิดแผนการทำงานที่เรียกว่า 4 สร้าง 1 พัฒนา คือ สร้างคนต้นแบบ 3 ระดับ พัฒนาความร่วมมือใน 4 องค์กรหลัก ดังนี้

             สร้างคนต้นแบบ 3 ระดับ คือ 1. สร้างผู้นำชุมชน เยาวชนและครอบครัว 2. สร้างนวัตกรรม 3. สร้างมาตรการทางสังคมและการบังคับใช้กฎหมาย

                        1 พัฒนา คือ พัฒนาความร่วมมือใน 4 องค์กรหลัก ได้แก่ ท้องถิ่น ท้องที่ ส่วนราชการ และประชาชน

             การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของตำบลนาข่าได้ดำเนินไปอย่างเป็นระบบ อาศัยการสร้างความเข้าใจ และเสริมสร้างความร่วมมือ จากกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม คือ

สร้างบุคคลต้นแบบ  เริ่มจากตนเอง คณะทำงาน ฯ และอสม. ทุกคนจะต้องสวมหมวกกันน็อกทุกครั้งและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้คนในชุมชนเห็นเป็นตัวอย่าง

เคาะประตูบ้าน เน้นความเข้มข้นในช่วงก่อนเทศกาล คณะทำงาน อสม. ผู้นำชุมชน กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน รพ.สต./เทศบาล จะร่วมกันเดินไปเคาะประตูบ้านทุกหลังคาเรือน เพื่อพูดคุย ทำความเข้าใจและขอความร่วมมือในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะบ้านที่มีกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กขี่มอเตอร์ไซด์ หรือคนชอบดื่ม เป็นต้น ในช่วงแรกมีบ้างที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือเพราะยังไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญ แต่คณะทำงานมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

ร่วมมือกับภาคเอกชน ขอความร่วมมือร้านค้างดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาที่กฏหมายกำหนด ได้รับความร่วมมือจากร้านค้าเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีร้านค้าและบริษัทหลายแห่งให้การสนับสนุนการทำงานของจุดตรวจในช่วงเทศกาล เช่น สนับสนุนน้ำดื่ม อาหาร เป็นต้น

พื้นที่ปลอดภัยทางถนนในโรงเรียน มีการจัดอบรมให้ความรู้กับนักเรียน ร่วมกันสร้างมาตรการความปลอดภัยทางถนนในโรงเรียน นำไปสู่การสร้างพื้นที่โรงเรียนปลอดภัย

มาตรการทางสังคม หากลูกหลานบ้านไหนสร้างความเดือดร้อนในการขับขี่ เช่น ขับขี่เสียงดัง ดื่มแล้วขับ จะมีการตักเตือน, ทำโทษหรือปรับผู้ปกครองตามความเหมาะสม โดยคณะกรรมการของแต่ละชุมชน ให้คนในครอบครัวได้ดูแลกันเอง หากพบคนเมาจะต้องถูกควบคุมให้อยู่ในจุดพักจนกว่าจะมีอาการหายเมาจึงจะปล่อยตัวกลับ

คืนข้อมูลสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง  การจัดการหลังการเกิดเหตุ การฝึกอบรมให้ความรู้แก่อสม. อพปร. การช่วยเหลือเบื้องต้นประเมินอาการประสานขอความช่วยเหลือ 1669 กู้ชีพ เทศบาลนาข่า การติดตามเยี่ยมผู้บาดเจ็บผู้พิการ รวมถึงการลงพื้นที่วิเคราะห์จุดเกิดเหตุค้นหาปัจจัยเสี่ยงแล้วนำข้อมูลมาใช้แก้ไขปัญหาของพื้นที่โดยชุมชนมีส่วนร่วมและ ในทุกเดือนจะมีการประชุมและสรุปตัวเลข เป็นการส่งต่อข้อมูลคืนให้กับชุมชน เพื่อใช้ในการวางแผนงานต่อไป ขณะนี้ในพื้นที่ยังคงดำเนินงานอยู่อย่างต่อเนื่องแม้จะไม่ใช่ในช่วงเทศกาลก็ตาม  

 

.... มุมมองของคนทำงาน นำไปสู่ผลงานที่ยิ่งใหญ่ จนกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อความปลอดภัยทางถนน ....

ตำบลนาข่า อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

0
0
0
s2smodern

เขียนโดย Super User

 

หนทางอันแสนไกล รู้ไหมเมืองไทยมีกี่กิโล

         เมื่อพูดถึงถนนทุกคนคงรู้จัก แล้วเรารู้กันไหมว่าทางหลวงแบ่งออกเป็นกี่ประเภท วันนี้เราจะมาดูกัน ทางหลวงในประเทศไทยนั้นอยู่ในความควบคุมของ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม แบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลัก ได้แก่ ทางหลวงพิเศษ, ทางหลวงแผ่นดิน, ทางหลวงชนบท, ทางหลวงท้องถิ่น และทางหลวงสัมปทาน นอกจากนี้ยังมี ทางพิเศษ คือทางหรือถนนซึ่งจัดสร้างขึ้นหรือได้รับโอน ได้รับมอบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจราจรเป็นพิเศษ

 ภาพที่ 1. หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานทางถนน

 1.ทางหลวงพิเศษ หรือเรียกอีกกันอีกในชื่อนึงว่า มอเตอร์เวย์ คือ ทางหลวงที่สร้างหรือทำขึ้นมาเพื่อให้การจราจรผ่านได้ตลอดอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ โดยมี กรมทางหลวง เป็นผู้ดูแลดำเนินการ มีระยะทาง 224.600 กม.

 2.ทางหลวงแผ่นดิน หรือเรียกอีกอย่างว่า ถนนสายหลัก จะมีหมายเลขกำกับ แบ่งเป็นหมวดหมู่ตัวเลขตั้งแต่หนึ่งหลักจนถึงสี่หลัก โดยมีเส้นทางหลักอยู่ 4 เส้นทาง คือ  (ถนนพหลโยธิน) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1  (ถนนมิตรภาพ) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2  (ถนนสุขุมวิท) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนเพชรเกษม) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 นอกจากนี้ยังมีถนนทางหลวงที่มีเลขสองหลักคือ เส้นทางสายประธานที่จะเชื่อมจากทางหลวงหลักแยกผ่านออกไปสู่พื้นที่สำคัญในแต่ละจังหวัด, ทางหลวงที่มีเลขสามหลักเป็นทางหลวงสายรองประธานที่จะเชื่อมต่อจากทางหลวงเลขตัวเดียวหรือสองตัว เพื่อเข้าสู่พื้นที่ย่อยอีกที และทางหลวงที่มีเลขสี่หลัก เป็นทางสั้นที่เชื่อมต่อเข้าสู่พื้นที่ย่อยในแต่ละอำเภอ มีระยะทาง 51,849.747 กม.

 3.ทางหลวงชนบท หรือที่เราเรียกกันว่า ถนนสสายรอง เป็นทางหลวงที่อยู่ในความดูแลของ กรมทางหลวงชนบท ซึ่งจะเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน หรือสถานที่สำคัญต่างๆ ในแต่ละจังหวัด โดยบนป้ายทางหลวงชนบทจะประกอบด้วยตัวอักษรย่อของจังหวัด 2 ตัว และเลข 4 ตัวมาใช้กำกับ มีระยะทาง 48,031.391 กม.

 4.ทางหลวงท้องถิ่น เป็นทางหลวงที่อยู่ในความดูแลของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการเชื่อมต่อกันระหว่างหมู่บ้าน ตำบล หรือเทศบาล บนป้ายทางหลวงท้องถิ่นจะประกอบด้วยตัวอักษร 3 ตัว และตัวเลข 5 หลักกำกับไว้ จากข้อมูลของ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข) ปี 2562 ถนนในความดูแลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย มีความยาว 597,667 กม. ในที่นี้รวมถนนในกรุงเทพมหานครอีก 4,074.380 กม.

 5.ทางหลวงสัมปทาน เป็นทางหลวงที่กรมทางหลวงได้ให้เอกชนสัมปทาน ทางหลวงสัมปทานจะมีระบบตัวเลขเหมือนกับทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงพิเศษ ขึ้นอยู่กับลักษณะของทางหลวงสัมปทานนั้นว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร โดยปัจจุบันมีทางหลวงสัมปทาน 1 เส้นทางคือ ทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) เฉพาะช่วงทางยกระดับดินแดง–ดอนเมือง บนถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทางทั้งสิ้น 28.224 กม.

 

ภาพที่ 2. ระยะทางถนนประเทศไทย

           นอกจากนี้ยังมีถนนบางเส้นทางที่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนจึงไม่ได้ถูกจัดอยู่ใน 5 ประเภทนี้ เช่น ถนนเลียบคลองชลประทาน ถนนนิคมอุตสาหกรรม ถนนในพื้นที่เอกชน เป็นต้น ถนนในเมืองไทยยาวไกลใช่เล่น อย่าลืมใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยด้วยการปฏิบัติตามกฎเพื่อลดอุบัติเหตุกันด้วยนะทุกคน

 

สืบค้นข้อมูลจาก   รายงานโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม พ.ศ.2561 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการขนส่งและจราจร สนข., 2562

                       https://www.autostation.com/knowledge/highway-in-thailand

0
0
0
s2smodern

เขียนโดย Super User

คุณรู้หรือไม่ประเทศไทยมีชุมชนปลอดภัยระดับสากล ?

       ในปี พ.ศ.2554 ชุมชนตลาดเกรียบ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับรองให้เป็นชุมชนปลอดภัยระดับสากล และได้รับการรับรองซ้ำเป็นชุมชนปลอดภัยมาตรฐานระดับสากลอีกครั้ง ในปี 2562  รวมเวลาแล้ว 9 ปี ที่ชุมชนแห่งนี้ได้รักษามาตรฐาน ชุมชนปลอดภัย ไว้ได้ เรามาดูกันว่า ชุมชนตลาดเกรียบ เขาทำกันได้อย่างไร

       ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำโครงการเด็กไทยปลอดภัยขึ้น และได้คัดเลือกจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่ดำเนินงานของภาคกลาง และออกค้นหาสถานศึกษาเพื่อดำเนินการเรื่อง “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปลอดภัย”  โดย ชุมชนตำบลตลาดเกรียบได้ถูกคัดเลือกให้เป็นชุมชนปลอดภัย และโรงเรียนวัดตลาด  (อุดมวิทยา) ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนสร้างเสริมความปลอดภัย  เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินโครงการต่าง ๆ โดยมีเทศบาลตำบลตลาดเกรียบเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน  มีการจัดตั้งชมรมเด็กไทยปลอดภัยเพื่อเป็นแกนนำสำคัญในการประสานการทำงานด้านความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีการค้นหาและระวังเรื่องความปลอดภัยในชุมชน โดยพบว่า ชุมชนตำบลตลาดเกรียบ มีการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนนมากที่สุด

       การทำงานด้านความปลอดภัยของเทศบาลตำบลตลาดเกรียบ มีบุคลากรที่รับผิดชอบในการดำเนินงานชุมชนปลอดภัยคือกองการศึกษา เทศบาลตำบลตลาดเกรียบเป็นแม่งานหลัก โดยประสานความร่วมมือกันระหว่างภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

       ชุมชนตลาดเกรียบดำเนินการโดยอาศัยจุดแข็งคือ มีผู้นำที่ได้รับความนับถือและการยอมรับจากชุมชนเป็นอย่างมาก อีกทั้งผู้นำได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชุมชน โดยได้มีคณะทำงานร่วมวางแผนและร่วมดำเนินงานทั้งกับภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ จนเกิดโครงการต่างๆมากมายในชุมชน โดยมีเป้าหมายให้เป็นชุมชนปลอดภัยในทุก ๆ ช่วงอายุ สำหรับเรื่องความปลอดภัยทางถนนเอง ได้แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้

ช่วงอายุ 3 - 12 ปี :  การรณรงค์การสวมหมวกนิรภัยมาโรงเรียน, การสวมเสื้อชูชีพเพื่อป้องกันการจมน้ำในเด็กและผู้ปกครอง, การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนกฎหมายจราจรเบื้องต้น, ปรับปรุงสนามเด็กเล็กปลอดภัย, สื่อการเรียนการสอนปลอดภัย, สนามขับขี่ปลอดภัย

ช่วงอายุ 6 - 18 ปี : ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจร   การขับขี่ปลอดภัย  การสวมใส่หมวกนิรภัยกิจกรรมสนามจำลองเรื่องการขับขี่ปลอดภัย

ช่วงอายุ 19  ปีขึ้นไป : ให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาวินัยจราจร   การขับขี่ปลอดภัย  การสวมใส่หมวกนิรภัยการสร้างถนนจักรยาน  โดยการตีเส้นแบ่งเขตเส้นทางเดินรถ ทางร่วมรถจักรยาน

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

โอกาส                                  ชุมนชนตลาดเกรียบได้รับการสนับสนุนจากโครงการเด็กไทยปลอดภัย ของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นก้าวย่าง                                       ที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งเมื่อได้รับโอกาสดีๆ ก็สามารถดำเนินงานและต่อยอดจนประสบผลสำเร็จ

แกนนำที่เข็มแข็ง                    ชุมชนตลาดเกรียบมีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้การทำงานสามารถก้าวไปได้ไกลคือ มีแกนนำที่เข็มแข็ง มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีความจริงใจในการทำงาน จนเป็นที่ยอมรับและนับถือจากคนในพื้นที่      

ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน      เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เมื่อภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน พร้อมใจกันทำเพื่อชุมชน เพื่อสังคม พลังแห่งความสามัคคีนี้จึงส่งผลให้ ชุมชนตลาดเกรียบเป็นชุมชนด้านความปลอดภัยระดับสากล

คณะแพทย์และพยาบาลจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสหรัฐอเมริกา

ศึกษาดูงานชุมชนปลอดภัยเทศบาลตำบลตลาดเกรียบ และเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลตลาดเกรียบ

 ชุมชนตลาดเกรียบเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ไม่ได้ทำงานแบบไฟไหม้ฟางแต่มีการทำงานที่ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ

ปัจจุบันที่นี่เป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานให้กับทั้งหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ  

ชุมชนตลาดเกรียบ จ.อยุธยา เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทย

 

0
0
0
s2smodern

เขียนโดย Super User

น้องตั้งฯ พาทัวร์

           ไปเที่ยวกันไหมจ้ะพี่จ๋า วันนี้น้องตั้งฯ จะพาไปไหว้พระเอาฤกษ์เอาชัยหลังโควิดกันสักหน่อย เป้าหมายแรกของเราคือ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตบางเขน กรุงเทพฯการเดินทางสะดวกมาก สามารถใช้รถไฟฟ้า MRT มาลงที่สถานีวัดพระศรีฯได้เลย ถ้ามารถโดยสารประจำทางหรือขับรถมาเองก็หาง่ายมากเพราะวัดอยู่ติดถนนพหลโยธิน ฝั่งตรงข้ามกับสถานีดับเพลิงบางเขน ใกล้วงเวียนบางเขนหลักสี่ซึ่งเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธิน ถ.รามอินทรา ถ.แจ้งวัฒนะ สำหรับท่านที่ขับรถยนต์ก่อนออกจากบ้านก็อย่าลืมเช็คความพร้อมของรถและคาดเข็มขัดนิรภัยก่อนออกจากบ้านด้วยนะจ้ะ พี่ๆ คนไหนขี่มอเตอร์ไซด์ก็อย่าลืมใส่หมวกกันน็อคกับใส่แมสก์ด้วยนะเออ ที่สำคัญอีกอย่างอย่าขับรถไวกันนะจ้ะ ถนนบริเวณนี้รถค่อนข้างเยอะมีทั้งรถเล็กรถใหญ่แล่นกันขวักใขว่เต็มถนนกันแทบจะตลอดเวลา ไปไหว้พระให้สบายใจแล้วก็ควรปลอดภัยจากอุบัติเหตุด้วย น้องตั้งฯ เป็นห่วงจ้า

         วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรวิหาร เริ่มสร้างเมื่อปี พุทธศักราช 2483 เปิดเป็นเสนาสนะแห่งพระภิกษุสงฆ์ เป็นรัฐพิธี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาญาณ สมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นประธาน อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ รัฐบาลอินเดียได้ มอบพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบ ณ มหาสถูปธรรมราชิกะ และเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และมอบกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ให้ตามที่รัฐบาลไทยเสนอขอ 5 กิ่ง และมอบดินจากสังเวชนียสถานให้กับรัฐบาลไทย ด้วยเห็นว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ และพระบรมสารีริกธาตุเป็นมหาสิริมงคลแก่วัดที่จะสร้างใหม่ ซึ่งได้รับมาในโอกาสเดียวกันกับที่จะสร้างวัดพอดี จึงอัญเชิญมาไว้วัดนี้และตกลงตั้งนามวัดว่า "วัดพระศรีมหาธาตุ"

            

          ด้านหน้าวัดจะเป็นเจดีย์สูง 38 เมตร มีนามว่าพระเจดีย์ศรีมหาธาตุ ได้มีพระราชพิธียกฉัตรยอดเจดีย์ เมื่อ 25 เมษายน 2484 พระมหาเจดีย์นี้เป็น 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นเจดีย์ใหญ่ ชั้นในเป็นเจดีย์องค์เล็กอยู่ตรงกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระอุโบสถจะเปิดให้เข้าไปไหว้ในวันพระ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธมงคลมุจลินทร์สำหรับคนที่นับถือพญานาคอีกด้วย เมื่อไหว้พระเสร็จแล้วเราก็สามารถถวายสังฆทาน ปล่อยปลา ปล่อยนก ไถ่ชีวิตโคกระบือ ได้ในบริเวณวัดอย่างครบครัน

          ไปไหว้พระทำบุญให้สบายใจ แล้วขับขี่ด้วยความระมัดระวัง “ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท  ลดเร็ว ลดเสี่ยง” กลับบ้านด้วยความปลอดภัยกันนะจ้ะ ไหว้พระกันแล้วคราวหน้าน้องตั้งฯ จะพาไปหาของอร่อยในสถานที่สวยๆ นะจ้ะ

0
0
0
s2smodern

เขียนโดย Super User

         อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ 619 ตร.กม. 16 ตำบล 220 หมู่บ้าน มีประชากร รวม 162,583 คน เป็นอำเภอใหญ่และมีปัญหาการเกิดอุบัติเหตุและการตายทางถนน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ รพ.สต.โนนน้อย ซึ่งมีทางหลวงหมายเลข 226 ตัดผ่าน ถนนเป็นทางตรงประมาณ 5 - 10  กิโลเมตร ทำให้รถวิ่งด้วยความเร็วสูง อีกทั้งยังเป็นเส้นทางหลักระหว่างจังหวัดอุบลราชธานี – จังหวัดศรีสะเกษ ในช่วงเทศกาลหยุดยาว จะมีประชาชนใช้รถในการเดินทางเป็นจำนวนมาก ในปี  2556-2558 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 6 ราย

       อ.วารินชำราบ ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกด้าน จึงมีการก่อตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และบูรณาการกับกองทุนสุขภาพตำบล มีการกำหนดยุทธศาสตร์ ประสานหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง บูรณาการทรัพยากร สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการกำกับติดตามผลการดำเนินงาน ได้เริ่มดำเนินโครงการเกี่ยวกับการลดอุบัติเหตุทางถนนในปี 2560 โดยมีสำนักงานควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพี่เลี้ยง มีศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) เป็นกลไกขับเคลื่อนระดับท้องถิ่น และได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เป็นการประสานการทำงานกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานสาธารณสุข ตำรวจ มหาวิทยาลัย โรงเรียน ชุมชน เอกชน เป็นต้น

วารินชำราบกับสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน

          ด้านหน้าโรงพยาบาลวารินชำราบเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งเพราะเป็นถนนใหญ่ทางตรง 4 ช่องจราจร มีเด็กมาขับรถซิ่งบ่อยครั้ง จึงมีการดำเนินการการปรับปรุงใหม่โดยนำเกาะกลางถนนออก ทำให้อุบัติเหตุลดลง อีกจุดหนึ่งที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยเช่นกันคือ สี่แยกประปา ทางเทศบาลเมืองวารินชำราบ จึงทำการเปลี่ยนสัญญาณไฟจาก 2 จังหวะเป็น 3 จังหวะ ทำให้ไม่เกิดอุบัติเหตุอีกเลย

       ในเขตตำบลบุ่งหวาย อุบัติเหตุมักเกิดในถนนสายรองที่เชื่อมต่อกับถนนสายหลัก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ จึงเน้นไปที่การตั้งด่านในช่วงเทศกาล นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนนอีกหลายอย่าง เช่น

  • ติดตั้งโปรแกรมตรวจจับผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยและฝ่าไฟแดง
  • จัดอบรมให้ความรู้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนให้กับกลุ่มนักเรียนและบุคคลทั่วไป
  • ติดตั้งไฟส่องสว่างให้ทั่วถึง
  • กิจกรรมรณรงค์ใส่หมวกนิรภัย
  • ติดตั้งป้ายเตือน / สัญลักษณ์จราจร
  • กิจกรรมการตั้งด่านชุมชน
  • เป็นต้น

  

       ในการทำงานกับชุมชนนั้นมีหน่วยงานหลายภาคส่วนช่วยเป็นพี่เลี้ยงและให้คำปรึกษาและมีการทำงานเป็นขั้นตอน

        ค้นหาและวิเคราะห์จุดเสี่ยง  เป็นการระดมความคิดเห็นจากคนในชุมชน ช่วยกันค้นหาจุดเสี่ยงและวิเคราะห์จุดเสี่ยงร่วมกัน

ลงศึกษาพื้นที่จริงเพื่อสำรวจจุดเสี่ยงและร่วมวางแผนการแก้ไข

ทำการประชาคม สร้างการมีส่วนร่วมและการยอมรับของชุมชน

 

แก้ไขปัญหาร่วมกัน หลังจากได้ข้อสรุปก็เริ่มดำเนินการตามแผนที่วางไว้

ติดตามการดำเนินงานและถอดบทเรียน มีการติดตามและถอดบทเรียนการทำงานเพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาการทำงานในขั้นตอนต่อไป

  

 นอกจากการวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา อ.วารินชำราบ ยังได้วางแผนการทำงานในปีถัดไปเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง

เมื่อคนทำงานเข้มแข็ง แผนงานชัดเจน ทำงานอย่างเข้มข้น และติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล อำเภอวารินชำราบ จึงเป็นอีกหนึ่งแห่งที่จะช่วยให้เป้าหมายในการลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยเป็นจริง

 

0
0
0
s2smodern