เขียนโดย Super User

จิ๋วแต่แจ๋ว ... กลุ่มคนใจใหญ่ ในพื้นที่เล็ก

          ตำบลโนนทองอินทร์ เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี มีทั้งสิ้น 8 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 4,000 คน มีการดำเนินงาน เสริมสร้างความร่วมมือกันขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อลดความเสี่ยงและความสูญเสียของประชากรในพื้นที่ โดยการจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยทางถนนตำบลโนนทองอินทร์ (ศปถ.ตำบล) โดยมีนายบุญเลิศ สวัสดี นายก อบต.โนนทองอินทร์ เป็นประธาน และปลัดสุมานิตย์ วงษ์ดี เป็นเลขานุการ นายธนาวิทย์ ทำนาเมือง ผอ.รพ.สต.โนนทองอินทร์ และนายบริสุทธิ์ วิชัยผิน ฝ่ายป้องกัน อบต.โนนทองอินทร์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ศปถ. ตำบลโนนทองอินทร์ เป็นคณะกรรมการ
จากข้อมูลการดำเนินงาน พบว่า ปี 2560 มีผู้ที่เสียชีวิตรายแรกของตำบลในรอบ 10 ปี จึงทำให้มีการนำประเด็นดังกล่าวมาพูดคุยกัน ในคณะกรรมการ ศปถ.ตำบลและคณะกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตตำบลโนนทองอินทร์ร่วมกันปรึกษาหารือและร่วมผลักดันให้ประเด็นการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เป็น 1 ใน 5 วาระสำคัญของตำบล ได้แก่
1.ตำบลสะอาด( ธนาคารขยะ)
2. ตำบลต้นแบบความปลอดภัยทางถนน
3. ตำบลสร้างเสริมสุขภาพ
4. ตำบลผู้สูงอายุสุขภาพดี
5. ตำบลสมุนไพร

 

         ในส่วนของการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน ต.โนนทองอินทร์เริ่มดำเนินงานในปี 2561ในช่วงแรก ต.โนนทองอินทร์ มีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะดำเนินงานอย่างเพียงพอจึงต้องแสวงหาจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม โดยเป็นลูกข่ายของ รพ.สต.นาข่า อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้งบประมาณมาดำเนินงานเรื่อง “ลดเมาเพิ่มสุข” และได้รับงบส่วนหนึ่งจาก สำนัก 6 สสส. เพื่อมาขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขจุดเสี่ยงในพื้นที่ โดยมี หมู่ 4 (หมู่บ้านอะไร ?) เป็นหมู่บ้านนำร่อง การทำงานของ ต.โนนทองอินทร์ เน้นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชน เช่น รพ.สต. ศปถ. สอ. อบต. / แกนนำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. / ประชาชนในพื้นที่ ร้านค้า ผู้ประกอบการ เป็นต้น การดำเนินงานดังกล่าวใช้การสร้างการมีส่วนร่วมแบบใยแมงมุม คือ ร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน ร่วมกันทำ ร่วมกันรับผลประโยชน์

 

         ก่อนการดำเนินงานทาง รพ.สต.ได้ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและจัดเวทีคืนข้อมูลให้ชุมชน เพื่อร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ในตำบล คณะทำงาน ศปถ. มีการสร้างทีมงานที่เข็มแข็งในทุกระดับ ร่วมกันวางแผนการดำเนินงานอย่างครอบคลุม ไม่เพียงแต่การค้นหาจุดเสี่ยง แต่ยังค้นหาคนที่มีพฤติกรรมอันนำไปสู่ความเสี่ยง และรถที่มีสภาพไม่ปลอดภัย อันอาจก่อให้เกิดอันตราย หลังจากนั้น ก็สร้างกิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ในชุมชนมีกิจกรรมมากมาย อาทิเช่น
                 1. กิจกรรมเตือนก่อนจับปรับ ในกรณีของการจับปรับเมื่อมีมาตรการชุมชนออกมาแล้ว จะมีการแจ้งประกาศให้ชุมชนได้รับรู้และค่อย ๆ ปรับตัวเป็นระยะเวลา 6 เดือน ก่อนดำเนินการตรวจจับและปรับอย่างจริงจังในพื้นที่ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและลดแรงต้านจากคนในชุมชน
                 2. กิจกรรมเคาะประตูบ้าน คณะ อสม.จะร่วมกันออกไปเยี่ยมตามบ้านต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจและแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน เช่น อันตรายจากการดื่มแล้วขับ การขับขี่อย่างปลอดภัย เป็นต้น เป็นการสร้างการรับรู้และสร้างความร่วมมือตั้งแต่ระดับครอบครัว สู่ระดับชุมชน
                  3. กิจกรรมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อความปลอดภัยทางถนน เน้นการสร้างความเข้าใจและปลูกฝังนิสัยเรื่องความปลอดภัยทางถนนให้กับเด็กเล็ก ส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นพื้นที่ปลอดภัย จัดกิจกรรมรณรงค์ใส่หมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กและผู้ปกครอง ค้นหาบุคคลต้นแบบเน้นไปที่กลุ่มผู้ปกครอง โดยทางโครงการจะมีการออกใบรับรองให้กับผู้ปกครองที่ขับรถดีและสวมใส่หมวกนิรภัยทุกครั้งที่มีการขับขี่หรือใช้รถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองและเด็กเห็นความสำคัญของการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนต่อไป
                       4. กิจกรรมผ้าป่ายางรถยนต์ มีการจัดกิจกรรมทอดผ้าป่ายางรถยนต์ในตำบล เพื่อนำยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้แล้วมาทาสี ทำแนวกั้นในจุดเสี่ยงในพื้นที่ เช่น ทางโค้ง ทางแยก เป็นต้น



                  5. กิจกรรมร่วมกับพระสงฆ์ คณะทำงานในพื้นที่ ได้รับความเมตตาจาก หลวงปู่ศรี สิริธโร เจ้าอาวาสวัดป่าโนนทองอินทร์ ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของคนในชุมชน ได้ช่วยกระตุ้นและผลักดันให้ชุมชนเกิดความร่วมมือและเกิดความตระหนักในการที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนร่วมกัน โดยหลวงปู่ศรีเทศน์ให้ชาวบ้านและพุทธศาสนิกชน ได้เกิดการรับรู้ถึงปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยสร้างกลุ่มแกนนำเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชน ภายใต้คำขวัญว่า “ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน”
                  6. กิจกรรมร่วมกับภาคเอกชน เช่น การขอความร่วมมือกับร้านค้าในการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาที่กำหนด หรือชุมชนมีเทศกาลที่สำคัญ เป็นต้น นอกจากนี้ในช่วงเวลาของการจัดกิจกรรมต่างๆ มักได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาคเอกชนอย่างสม่ำเสมอ
                 7. กิจกรรมตั้งจุดตรวจ จุดสกัดในช่วงเทศกาล ในช่วงเทศกาลจะมีการรณรงค์ เคาะประตูบ้าน ตั้งด่านครอบครัวหรือจุดตรวจ จุดสกัดในพื้นที่ โดยการทำประชามติ เกิดข้อตกลงกับชุมชนว่าหากพบเห็นคนดื่มสุรา ที่จะเดินทางออกจากพื้นที่ คณะทำงาน ฯ จะให้มานั่งพักในจุดที่ตั้งด่านก่อนจนกว่าจะสร่างเมาหรือรู้สึกตัวดีขึ้น จึงจะปล่อยตัวออกไป ถ้ายังไม่สร่างเมา หัวหน้าชุดก็จะมอบหมายให้ชุดรักษาความปลอดภัย (ชรบ./อปพร.) นำส่งคนเมาให้กลับถึงบ้านโดยส่งต่อให้ญาติพี่น้องเป็นผู้ดูแลต่อ

         การดำเนินงานที่ผ่านมาไม่เพียงแต่เน้นไปที่ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเท่านั้น แต่คณะทำงาน ฯ ยังได้มีการศึกษาเรียนรู้หาประสบการณ์และแนวคิดใหม่ๆ ร่วมกับเครือข่ายอื่น ๆ อยู่เสมอ ปัจจุบันในพื้นที่เกิดมาตรการความปลอดภัยในการขับขี่ 10 รสขม. ตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทย คือ
               1 ร. คือ ไม่ขับเร็ว
               2 ส. คือ ไม่ฝ่าสัญญาณไฟ ไม่ย้อนศร
               3 ข. คือ ต้องมีใบขับขี่ คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ไม่แซงในที่คับขัน
               4 ม. คือ มอเตอร์ไซด์ขับขี่ระวัง ใส่หมวกกันน็อคทุกครั้ง ไม่ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ไม่ดื่มแล้วขับ

         จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินด้านหลังวัด (วัดอะไร ?) เพื่อใช้ทำถนนให้กับนักเรียน เพราะถนนด้านหน้าค่อนข้างมีความพลุกพล่านและมีความเสี่ยง ไม่ปลอดภัยเพียงพอสำหรับเด็ก ๆ หรือบุตรหลาน ขณะนี้ การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ได้ถูกนำมาร้อยเรียงและผลักดันให้ชุมชนเกิดการรับรู้ ให้ความร่วมมือและเกิดความตระหนักในการที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายให้เห็นผลได้ชัดเจน ในระยะเวลา 5 ปี
...ตำบลโนนทองอินทร์แม้จะเป็นพื้นที่เล็ก แต่มีคนทำงานใจใหญ่ เราจึงเชื่อว่า นี่เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ควรค่าแก่การเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง.... จิ๋วแต่แจ๋ว ... กลุ่มคนใจใหญ่ ในพื้นที่เล็ก

 

 


“ถ้ายังไม่สำเร็จ...ก็อย่าหยุด...ที่จะพยายาม”
ธนาวิทย์  ทำนาเมือง ผอ.รพ.สต.โนนทองอินทร์

 

0
0
0
s2smodern