กว่า 20,000 ชีวิตต่อปี จะประเมินความสูญเสียอย่างไร
ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (ThaiRSC) ในปี 2562 มีผู้เสียขีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 17,176 คน บาดเจ็บ 925,029 คน เมื่อมีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสิ่งหนึ่งที่หลายคนมักนึกถึงเป็นอันดับต้นๆคือ อุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ จากข้อมูลผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์ของ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า
- ปี 2562 ผู้เสียชีวิตจากมอเตอร์ไซด์จำนวน 4,802 คน เฉลี่ย 13.15 คน/วัน
- รวม 3 ปี (ตั้งแต่ 2560-2562) จะมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 23,530 คน เฉลี่ย 21.48 คน/วัน
- กลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มวัยแรงงาน
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย (Thailand Accident Research Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ได้แถลงความคืบหน้าของ “โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” หรือ In-depth Accident Investigation in Thailand วิจัยอุบัติเหตุที่เกิดกับผู้ใช้รถจักรยานยนต์เพื่อค้นหาปัจจัยสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว โดยเก็บข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. 2559-2563 หลังจากมีการเก็บข้อมูลจำนวน 600 เคส และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องพบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ สอดคล้องกับข้อมูลที่มีการเผยว่า การไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 60 เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังข้อมูลสำคัญอื่นๆ ดังนี้
- ผู้ประสบอุบัติเหตุมักเสียชีวิตจากการชนกับรถยนต์คันอื่นหรือวัตถุข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ รถบรรทุก และ รถที่จอดอยู่ข้างทาง ตามลำดับ
- รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ การเลี้ยวตัดกระแสจราจรทางตรงบริเวณจุดกลับรถ ทางแยก หรือทางเข้าออกซอยต่างๆ
- รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่ส่งผลให้ผู้ขับขี่เสียชีวิตมากที่สุดคือ การชนที่ด้านหน้า, การชนท้ายรถคันอื่น และการชนกับรถขณะเลี้ยวในบริเวณจุดตัดต่างๆ
- สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ ร้อยละ 54 เกิดจากความผิดพลาดของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เอง ร้อยละ 40 จากคนขับรถยนต์คันอื่น ร้อยละ 4 จากถนน และร้อยละ 2 จากยานพาหนะ
- เมื่อย่อยรายละเอียดลงไปอีกในเรื่องของความผิดพลาดของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 52 มีการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ร้อยละ 21 ตัดสินใจผิดพลาดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ฉุกเฉิน และร้อยละ 19 เป็นความผิดพลาดในการควบคุมรถ
- ร้อยละ 26 ของอุบัติเหตุทั้งหมด เกิดจากความไม่ตั้งใจในการขับขี่
- ร้อยละ 32 ของอุบัติเหตุทั้งหมด เกิดจากการทำผิดกฎจราจรของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์
- ร้อยละ 48 ของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดจากการที่ผู้ขับขี่ไม่หลบหลีกหรือเบรกเพื่อหลีกเลี่ยงการชน ซึ่งส่วนใหญ่เบรกไม่ทันนั่นเอง ซึ่งผู้ขับขี่มีสภาพร่างกายปกติ และขับขี่ด้วยความเร็วปกติระหว่าง 30-60 กม./ชม.
- ร้อยละ 40 ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ทว่าในกลุ่มผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่ร้อยละ 50 ก็ไม่สามารถเบรกทันได้เช่นเดียวกัน นั่นแสดงถึงทักษะในการหลีกเลี่ยงการชนที่ยังขาดอยู่
- ร้อยละ 85 ของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดกับผู้ขับขี่ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรบขับขี่ปลอดภัย แต่กลับฝึกขับขี่ด้วยตนเอง รวมถึงคนใกล้ชิด
- ร้อยละ 15 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เกิดจากการขับขี่ขณะมึนเมา
กล่าวโดยสรุปแล้ว ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยยังขาดทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัย และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ยังขาดการเรียนรู้ด้านการคาดการณ์สถานการณ์ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ต่อยอดไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและลดการเสียชีวิตของผู้ขับขี่อันได้แก่ การพัฒนาทักษะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทั้งหมด 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การคาดการณ์อุบัติเหตุ, การตัดสินใจที่ถูกต้อง และการควบคุมรถอย่างปลอดภัย นั่นเอง
ข้อมูลจาก ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ และคณะ, ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ผู้สนับสนุน : มูลนิธิไทยโรดส์ ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการฝ่าฝืนสัญญาณไฟพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ พบว่า ผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุไม่เกิน 20 ปี มักขับขี่รถจักรยานยนต์ประเภทเกียร์ธรรมดา ขับขี่โดยลำพังและไม่สวมหมวกนิรภัย รวมถึงเป็นผู้ขับขี่ผ่านทางแยกในลักษณะตรง มากกว่าผู้ขับขี่ที่ขับผ่านทางแยกในทิศทางอื่นๆ
จากการศึกษาของกรมทางหลวงเรื่อง “มูลค่าความเสียหายของอุบัติเหตุในประเทศไทย” ซึ่งมีคณะผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้จัดทำ พบว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนมีมูลค่าสูงถึง 232,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.8 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศเลยทีเดียว
องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า ไทยเป็นสังคมสูงวัยเร็วอันดับ 3 ของเอเชียคาดว่าจำนวนประชากรกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 26.9% ภายในปี 2573 หมายความว่าประชากรไทยทุก 4 คน เป็นคนชรา 1 คน (ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง เกาหลีใต้อันดับสอง) สอดคล้องกับข้อมูลของ ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ได้ทำภาพเปรียบเทียบพีระมิดประชากรไทย พ.ศ.2513-2573 ไว้ตั้งแต่ปะ 2550
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากขึ้นเนื่องจากการเกิดน้อยลง เมื่อการเกิดน้อยลงแล้วยังมีเด็กไทยและวัยแรงงานของประเทศเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการขับขี่มอเตอร์ไซด์ต่อไปเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่กระทบต่อครอบครัว ชุมชน เท่านั้น แต่อาจส่งผลต่อโครงสร้างโดยรวมของเทศอย่างมิอาจประมาณค่าได้ กระทบกับอะไรบ้างเรามาดูกัน
- ขาดแรงงานอย่างรุนแรง (กระทรวงแรงงาน ภาคเอกชน)
- การผลิตของภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบ (ภาคเอกชน)
- รายได้และงบประมาณของประเทศได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อวัยแรงงานน้อยลงภาษีที่รัฐจะต้องจัดเก็บก็น้อยลงตามไปด้วย อีกทั้งยังต้องนำเงินส่วนหนึ่งมาดูแลผู้สูงอายุ (กระทรวงการคลัง)
- กระทบต่อระบบสาธารณสุข เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็เสื่อมโทรมลง เจ้าหน้าที่จะต้องทำงานหนักขึ้น
- ผู้สูงอายุขาดการดูแล ต้องดูแลตนเองมากขึ้น (กระทรวงสาธารณสุข)
- ผู้สูงอายุต้องทำงานมากขึ้น รวมถึงขับรถมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นสมรรถภาพทางร่างกายเสื่อมถอยลงจะส่งผลต่ออุบัติเหตุทางถนนมากขึ้นตามไปด้วย (กระทรวงสาธารณสุข)
- ปัญหาสุขภาพจิต ความเครียด (ครอบครัว กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ภาคเอกชน)
- รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง เมื่อไม่มีลูกหลานดูแลคนจะประหยัดมากขึ้น เพราะต้องหันมาเก็บเงิน ไว้ดูแลตนเองยามสูงวัย (กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ภาคเอกชน รายได้ประชาชนในท้องถิ่น)
- ถนนหนทางจะชำรุดทรุดโทรมมากขึ้นเพราะงบประมาณที่ได้จะถูกจำกัด (กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท)
- ประเทศไทยจะกลายเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของต่างชาติ กลุ่มแรงงาน/ คู่ชีวิตคนไทย/ นักธุรกิจ (กรมที่ดิน)
- โรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องปิดตัวเพราะการเกิดน้อยการตายสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
- ขาดแรงงานในภาคการเกษตร (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
- ปัญหาสุขภาพจิต (ครอบครัว สังคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ภาคเอกชน กระทรวงการคลัง )
- การขนส่งต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว (กรมการขนส่ง)
- กฎหมายต้องมีการปรับแก้ไขบ่อยขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว (กระทรวงยุติธรรม)
- อื่นๆ
จากตัวอย่างผลกระทบข้างต้นเราคงเห็นกันแล้วว่า อุบัติเหตุทางถนนไม่ใช่เรื่องเล็ก ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาล ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังและจริงใจ ก่อนที่อุบัติเหตุทางถนนจะกลายเป็นปัญหาที่เรียกว่า...เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว... ผลกระทบอันประเมินค่ามิได้จะเกิดหรือไม่ อยู่ที่ความร่วมมือของคนไทยทุกคน...
สืบค้นข้อมูลจาก :
http://www.thairsc.com/ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/798846
https://www.gotoknow.org/posts/622228 http://www.thairoads.org/research/451
https://www.slideshare.net/taem/emergency-care-for-elderly
https://thestandard.co/thai-population-2562/
http://dashboard.anamai.moph.go.th/dashboard/populationpyramid?year=2019
https://www.dailynews.co.th/article/703980