เขียนโดย Super User

มุมมองของคนทำงาน..นำไปสู่ผลงานที่ยิ่งใหญ่

          หากพูดถึงพื้นที่ ๆ มีการทำงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดอุดรธานี โดยเฉพาะการดำเนินงานที่เรียกได้ว่าเป็น “ตำบลต้นแบบ” ชื่อของ ตำบลนาข่า อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เป็นอีกชื่อหนึ่งที่เรามักได้ยินและได้รับคำแนะนำอยู่เสมอ ๆ ว่าควรไปศึกษาดูงาน  แล้วทำไมถึงต้องเป็นที่นี่ ? เรามาดูกัน

          ตำบลนาข่ามีพื้นที่ 8,343.75 ไร่ จำนวนประชากร 6,434  คน เป็นตำบลที่อยู่ในอำเภอเมืองอุดรธานี มีถนนมิตรภาพพาดผ่านพื้นที่ตำบลประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นเส้นทางหลักไปสู่จังหวัดหนองคาย และ ประเทศ สปป.ลาว มีตลาดผ้าชื่อดังที่เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศอยู่ในพื้นที่ ขณะเดียวกันยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวไปยัง “วังนาคินทร์คำชะโนด” ได้อีกด้วย ทำให้มีปริมาณรถสัญจรเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน เคยเป็นพื้นที่สีแดงของการเกิดอุบัติเหตุในจังหวัดอุดรธานี โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์ จะมีทั้งคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่สัญจรเข้ามาเป็นจำนวนมาก

       ในปี 2559 จังหวัดอุดรธานี ได้กำหนดนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานตำบลต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนขึ้น โดยกำหนดให้แต่ละอำเภอมีตำบลต้นแบบอย่างน้อยอำเภอละ 1 ตำบล ก่อนที่จะขยายไปครบทุกตำบลในจังหวัดอุดรธานี เช่นปัจจุบัน  โดยกำหนดตัวชี้วัดไว้หลายประเด็น รวมถึงการตั้งทีมสอบสวนอุบัติเหตุการจราจรที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทุกราย ซึ่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)นาข่า ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของอำเภอเมืองอุดรธานี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการเกิดอุบัติเหตุสูง (พื้นที่สีแดง)  จึงได้มีการชักชวนกันเข้ามาเป็นคณะทำงานและวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันทางเทศบาลตำบลนาข่าก็มีความสนใจที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่แล้ว โดยผู้บริหารของเทศบาลและนายณัฐพงษ์ วงษา ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลนาข่า ได้นำคณะทำงานไปศึกษาเรียนรู้ที่จังหวัดขอนแก่น ร่วมกันวิเคราะห์ ค้นหาจุดแข็งจุดอ่อนของชุมชนอย่างจริงจัง

          ในปี 2560 ได้มีการจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ตำบล ขึ้นและมีการจัดตั้งคณะกรรมการทำงานในระดับพื้นที่อย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมกันวางแผนงานอย่างเป็นระบบ ค้นหาเครือข่ายเพิ่ม สร้างความรู้ความเข้าใจ จัดกิจกรรม รวมถึงมีการประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ โดยใช้หลักการ PDCA การทำงานของตำบลนาข่า มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน อีกทั้ง ในพื้นที่ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนเพื่อดำเนินงานเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดอุบัติเหตุ “ลดเมา เพิ่มสุข”         

                  

            จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในตำบล จึงทำให้เกิดแผนการทำงานที่เรียกว่า 4 สร้าง 1 พัฒนา คือ สร้างคนต้นแบบ 3 ระดับ พัฒนาความร่วมมือใน 4 องค์กรหลัก ดังนี้

             สร้างคนต้นแบบ 3 ระดับ คือ 1. สร้างผู้นำชุมชน เยาวชนและครอบครัว 2. สร้างนวัตกรรม 3. สร้างมาตรการทางสังคมและการบังคับใช้กฎหมาย

                        1 พัฒนา คือ พัฒนาความร่วมมือใน 4 องค์กรหลัก ได้แก่ ท้องถิ่น ท้องที่ ส่วนราชการ และประชาชน

             การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของตำบลนาข่าได้ดำเนินไปอย่างเป็นระบบ อาศัยการสร้างความเข้าใจ และเสริมสร้างความร่วมมือ จากกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม คือ

สร้างบุคคลต้นแบบ  เริ่มจากตนเอง คณะทำงาน ฯ และอสม. ทุกคนจะต้องสวมหมวกกันน็อกทุกครั้งและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้คนในชุมชนเห็นเป็นตัวอย่าง

เคาะประตูบ้าน เน้นความเข้มข้นในช่วงก่อนเทศกาล คณะทำงาน อสม. ผู้นำชุมชน กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน รพ.สต./เทศบาล จะร่วมกันเดินไปเคาะประตูบ้านทุกหลังคาเรือน เพื่อพูดคุย ทำความเข้าใจและขอความร่วมมือในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะบ้านที่มีกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กขี่มอเตอร์ไซด์ หรือคนชอบดื่ม เป็นต้น ในช่วงแรกมีบ้างที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือเพราะยังไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญ แต่คณะทำงานมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

ร่วมมือกับภาคเอกชน ขอความร่วมมือร้านค้างดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาที่กฏหมายกำหนด ได้รับความร่วมมือจากร้านค้าเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีร้านค้าและบริษัทหลายแห่งให้การสนับสนุนการทำงานของจุดตรวจในช่วงเทศกาล เช่น สนับสนุนน้ำดื่ม อาหาร เป็นต้น

พื้นที่ปลอดภัยทางถนนในโรงเรียน มีการจัดอบรมให้ความรู้กับนักเรียน ร่วมกันสร้างมาตรการความปลอดภัยทางถนนในโรงเรียน นำไปสู่การสร้างพื้นที่โรงเรียนปลอดภัย

มาตรการทางสังคม หากลูกหลานบ้านไหนสร้างความเดือดร้อนในการขับขี่ เช่น ขับขี่เสียงดัง ดื่มแล้วขับ จะมีการตักเตือน, ทำโทษหรือปรับผู้ปกครองตามความเหมาะสม โดยคณะกรรมการของแต่ละชุมชน ให้คนในครอบครัวได้ดูแลกันเอง หากพบคนเมาจะต้องถูกควบคุมให้อยู่ในจุดพักจนกว่าจะมีอาการหายเมาจึงจะปล่อยตัวกลับ

คืนข้อมูลสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง  การจัดการหลังการเกิดเหตุ การฝึกอบรมให้ความรู้แก่อสม. อพปร. การช่วยเหลือเบื้องต้นประเมินอาการประสานขอความช่วยเหลือ 1669 กู้ชีพ เทศบาลนาข่า การติดตามเยี่ยมผู้บาดเจ็บผู้พิการ รวมถึงการลงพื้นที่วิเคราะห์จุดเกิดเหตุค้นหาปัจจัยเสี่ยงแล้วนำข้อมูลมาใช้แก้ไขปัญหาของพื้นที่โดยชุมชนมีส่วนร่วมและ ในทุกเดือนจะมีการประชุมและสรุปตัวเลข เป็นการส่งต่อข้อมูลคืนให้กับชุมชน เพื่อใช้ในการวางแผนงานต่อไป ขณะนี้ในพื้นที่ยังคงดำเนินงานอยู่อย่างต่อเนื่องแม้จะไม่ใช่ในช่วงเทศกาลก็ตาม  

 

.... มุมมองของคนทำงาน นำไปสู่ผลงานที่ยิ่งใหญ่ จนกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อความปลอดภัยทางถนน ....

ตำบลนาข่า อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

0
0
0
s2smodern