เขียนโดย Super User

         อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ 619 ตร.กม. 16 ตำบล 220 หมู่บ้าน มีประชากร รวม 162,583 คน เป็นอำเภอใหญ่และมีปัญหาการเกิดอุบัติเหตุและการตายทางถนน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ รพ.สต.โนนน้อย ซึ่งมีทางหลวงหมายเลข 226 ตัดผ่าน ถนนเป็นทางตรงประมาณ 5 - 10  กิโลเมตร ทำให้รถวิ่งด้วยความเร็วสูง อีกทั้งยังเป็นเส้นทางหลักระหว่างจังหวัดอุบลราชธานี – จังหวัดศรีสะเกษ ในช่วงเทศกาลหยุดยาว จะมีประชาชนใช้รถในการเดินทางเป็นจำนวนมาก ในปี  2556-2558 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 6 ราย

       อ.วารินชำราบ ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกด้าน จึงมีการก่อตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และบูรณาการกับกองทุนสุขภาพตำบล มีการกำหนดยุทธศาสตร์ ประสานหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง บูรณาการทรัพยากร สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการกำกับติดตามผลการดำเนินงาน ได้เริ่มดำเนินโครงการเกี่ยวกับการลดอุบัติเหตุทางถนนในปี 2560 โดยมีสำนักงานควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพี่เลี้ยง มีศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) เป็นกลไกขับเคลื่อนระดับท้องถิ่น และได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เป็นการประสานการทำงานกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานสาธารณสุข ตำรวจ มหาวิทยาลัย โรงเรียน ชุมชน เอกชน เป็นต้น

วารินชำราบกับสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน

          ด้านหน้าโรงพยาบาลวารินชำราบเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งเพราะเป็นถนนใหญ่ทางตรง 4 ช่องจราจร มีเด็กมาขับรถซิ่งบ่อยครั้ง จึงมีการดำเนินการการปรับปรุงใหม่โดยนำเกาะกลางถนนออก ทำให้อุบัติเหตุลดลง อีกจุดหนึ่งที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยเช่นกันคือ สี่แยกประปา ทางเทศบาลเมืองวารินชำราบ จึงทำการเปลี่ยนสัญญาณไฟจาก 2 จังหวะเป็น 3 จังหวะ ทำให้ไม่เกิดอุบัติเหตุอีกเลย

       ในเขตตำบลบุ่งหวาย อุบัติเหตุมักเกิดในถนนสายรองที่เชื่อมต่อกับถนนสายหลัก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ จึงเน้นไปที่การตั้งด่านในช่วงเทศกาล นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนนอีกหลายอย่าง เช่น

  • ติดตั้งโปรแกรมตรวจจับผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยและฝ่าไฟแดง
  • จัดอบรมให้ความรู้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนให้กับกลุ่มนักเรียนและบุคคลทั่วไป
  • ติดตั้งไฟส่องสว่างให้ทั่วถึง
  • กิจกรรมรณรงค์ใส่หมวกนิรภัย
  • ติดตั้งป้ายเตือน / สัญลักษณ์จราจร
  • กิจกรรมการตั้งด่านชุมชน
  • เป็นต้น

  

       ในการทำงานกับชุมชนนั้นมีหน่วยงานหลายภาคส่วนช่วยเป็นพี่เลี้ยงและให้คำปรึกษาและมีการทำงานเป็นขั้นตอน

        ค้นหาและวิเคราะห์จุดเสี่ยง  เป็นการระดมความคิดเห็นจากคนในชุมชน ช่วยกันค้นหาจุดเสี่ยงและวิเคราะห์จุดเสี่ยงร่วมกัน

ลงศึกษาพื้นที่จริงเพื่อสำรวจจุดเสี่ยงและร่วมวางแผนการแก้ไข

ทำการประชาคม สร้างการมีส่วนร่วมและการยอมรับของชุมชน

 

แก้ไขปัญหาร่วมกัน หลังจากได้ข้อสรุปก็เริ่มดำเนินการตามแผนที่วางไว้

ติดตามการดำเนินงานและถอดบทเรียน มีการติดตามและถอดบทเรียนการทำงานเพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาการทำงานในขั้นตอนต่อไป

  

 นอกจากการวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา อ.วารินชำราบ ยังได้วางแผนการทำงานในปีถัดไปเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง

เมื่อคนทำงานเข้มแข็ง แผนงานชัดเจน ทำงานอย่างเข้มข้น และติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล อำเภอวารินชำราบ จึงเป็นอีกหนึ่งแห่งที่จะช่วยให้เป้าหมายในการลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยเป็นจริง

 

0
0
0
s2smodern